Wednesday, February 5, 2014

สารพันปัญหาแอร์ห่วยและวิธีซ่อมแอร์เบื้องต้นด้วยตัวเอง


เมื่อแอร์คู่ใจเกิดมีปัญหาใดๆ ขึ้นมา ก็ย่อมส่งผลต่อความสะดวกสบายเป็นอย่างมาก ดังนั้นเราควรต้องทราบวิธีแก้ปัญหาแอร์เบื้องต้นเอาไว้บ้าง สำหรับรับมือกับอาการเสียต่างๆ ของแอร์ได้ทันท่วงที

รวบรวมสารพันปัญหาแอร์ห่วยที่เรามักจะพบบ่อยๆ และวิธีแก้ปัญหาแอร์ห่วยเบื้องต้น

1. เครื่องแอร์ที่ติดตั้งภายในมีเสียงดัง ไม่มีความเย็นออกมา
สาเหตุ : ตลับลูกปืนในพัดลมเสื่อมสภาพ หรือมีฝุ่นเข้าไปสะสมมาก
ในแอร์นั้นจะมีพัดลมตัวใหญ่ที่จะคอยทำหน้าที่ดูด-เป่าอากาศภายในห้อง ซึ่งภายในพัดลมนั้นก็จะมีชิ้นส่วนที่เรียกว่าตลับลูกปืนพัดลม หรือแบริ่งมอเตอร์อยู่ภายใน หากชิ้นส่วนนี้เกิดการเสื่อมสภาพ หรือจารบีที่ใส่ไว้ในตลับลูกปืนแห้ง ก็จะทำให้แอร์มีเสียงดังในขณะที่พัดลมแอร์กำลังทำงานนั่นเอง
นอกจากนั้นการที่เราไม่ได้ทำการล้างแอร์เป็นเวลานาน อาจทำให้ภายนั้นนั้นมีฝุ่นเข้าไปจับตามส่วนต่างๆ ก็ถือเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้แอร์ไม่สามารถทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ ไม่มีความเย็นออกมา และอาจเกิดเสียงขณะทำงานเช่นกัน
วิธีแก้ไข : ต้องดูแลรักษาแอร์อย่างสม่ำเสมอ
ควรทำการตรวจสอบและการเติมน้ำยาแอร์ปีละ 2 ครั้ง ส่วนตรวจท่อเช็คน้ำยาแอร์ หรือการล้างแอร์ ก็ควรทำปีละ 4 ครั้งเป็นอย่างต่ำ ซึ่งการตรวจเช็คสภาพอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยให้เราทราบได้ทันทีว่า อุปกรณ์ภายในของแอร์ตัวใดเกิดอาการเสื่อมสภาพบ้าง จะได้เปลี่ยนอะไหล่ได้ทันท่วงที

2. ตัวคอมเพรสเซอร์ที่ติดตั้งไว้ด้านนอกมีเสียงดัง

สาเหตุ : เกิดจากอุปกรณ์เสื่อมภาพ หรือจากการติดตั้งที่ไม่ได้มาตรฐาน
เนื่องจากคอมเพรสเซอร์ก็คือพัดลมดูดอากาศขนาดใหญ่ ที่เวลาทำงานก็จะหลีกเลี่ยงการสั่นสะเทือนที่ทำให้เกิดเสียงได้ยาก ดังนั้นหากส่วนของลูกยางที่ทำหน้าที่รองรับแรงสั่นสะเทือนของพัดลมคอมเพรสเซอร์เกิดเสื่อมสภาพลง ซึ่งเกิดได้ง่าย เพราะเป็นอุปกรณ์ที่ติดตั้งภายนอกบ้าน ก็จะทำให้แอร์มีเสียงดัง
นอกจากลูกยางแล้ว หากโครงเหล็กที่เราใช้วางคอมเพรสเซอร์เกิดการเสื่อมสภาพ น๊อตหลวม หรือติดตั้งเข้ากับกำแพง ฯลฯ ไม่ได้มาตรฐานของบริษัทผู้ผลิต เวลาคอมเพรสเซอร์ทำงานก็จะเกิดเสียงดังเช่นกัน

วิธีแก้ไข : ต้องหมั่นตรวจเช็คและสังเกตความผิดปกติ
หากเรามีการใช้งานตัวแอร์และคอมเพรสเซอร์มาเป็นเวลานาน จำเป็นต้องตรวจเช็คคุณภาพของพัดลมในอุปกรณ์ด้วย เพราะอาจเกิดจากการเสื่อมสภาพ หรือมีสิ่งแปลกปลอมเข้าไปขัดเวลาแอร์ทำงาน ดังนั้นการคัด เลือกพื้นที่วางคอมเพรสเซอร์แอร์ให้ดีจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก เนื่องจากคอมเพรสเซอร์จะต้องติดตั้งภายนอกอาคาร จึงอาจวางตำแหน่งให้มีระแนงกั้นกันสิ่งแปลกปลอมเข้าไปในตัวเครื่อง

นอกจากนั้น เราควรเลือกใช้บริการติดตั้ง ซ่อม ดูแลและล้างแอร์จากหน่วยงานที่มีมาตรฐานในการทำงาน ก็จะช่วยแก้ปัญหาในเรื่องนี้ได้ตั้งแต่ต้น


3. อยู่ดีๆ ก็มีน้ำหยดออกมาจากตัวเครื่อง
สาเหตุ : อาจเกิดจากท่อน้ำตันเพราะสิ่งสกปรก
โดยปกติแล้ว แอร์จะมีน้ำที่เกิดจากการระเหย เนื่องจากการระเหยของไอเย็นภายใน ทำให้เกิดเป็นน้ำขึ้นมาสะสมอยู่ในตัวเครื่อง โดยจะมีการไหลออกมาตลอดเวลาจากท่อที่อยู่ภายในห้องออกไปนอกห้องอยู่แล้ว แต่หากมีน้ำหยดมากจนเกินไป อาจเกิดจากอาการท่อที่ระบายน้ำออกตันเพราะสิ่งสกปรกนั่นเอง
วิธีแก้ไข : ต้องดูแลรักษาแอร์อย่างสม่ำเสมอ
คล้ายคลึงกับอาการอื่นๆ นั่นก็คือปัญหาเรื่องน้ำหยดจากตัวแอร์นี้ จำเป็นจะต้องได้รับการดูแลรักษาจากช่างผู้ชำนาญการอย่างสม่ำเสมอ เพราะการถอดล้างแอร์ ก็จะช่วยกวาดเอาสิ่งสกปรกออกจากท่อไปด้วยนั่นเอง

4. แอร์เย็นจนน้ำแข็งเกาะ
สาเหตุ : น้ำยาแอร์มีการรั่วซึม
น้ำยาแอร์ก็คือสารทำความเย็นจำพวก Chloro Fluoro Carbons ซึ่งมีคุณสมบัติคือ ไม่มีพิษ ไม่มีกลิ่น และเพราะว่าสารเหล่านี้จะมีจุดเดือดที่ต่ำกว่าทั่วไป จึงถูกนำมาใช้ในการทำความเย็นเป็นหลัก ซึ่งหากน้ำยาแอร์นี้เกิดการรั่วซึมตามรอยต่อของท่อน้ำยาแอร์ ก็อาจส่งผลให้ความดันไอด้านคอยล์เย็นต่ำ และเกิดน้ำแข็งเกาะได้
วิธีแก้ไข : ให้ช่างผู้ชำนาญการมาตรวจสอบและอุดรอยรั่ว
วิธีการแก้ไขเบื้องต้นของอาการน้ำแข็งเกาะแอร์บ้าน ก็คือต้องหารอยรั่วให้เจอและซ่อมแซมรอยรั่วนั้น จากนั้นก็ต้องทำการเติมน้ำยาเพิ่มให้เต็มแทนที่ส่วนที่หายไป ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยช่างผู้ชำนาญการและไว้ใจได้

และนี่ก็คือปัญหาและวิธีแก้ปัญหาเบื้องต้น สำหรับให้เพื่อนๆ ทุกคนดูแลหนึ่งในปัจจัยแห่งความสุขที่จำเป็นสำหรับบ้านของเราได้ครับ แต่หากพิจารณาแล้วว่าปัญหาที่พบเกินกำลังจริงๆ เราก็ขอแนะนำให้เรียกใช้บริการผู้เชี่ยวชาญมาดูแลจะดีกว่า

No comments:

Post a Comment